การสอนในระบบทวิภาคีงานเด่นของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี

ผลจากการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการที่นำเอาทบวงมหาวิทลัยเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการและแบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 ส่วนหรือ 5 แท่งนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเกิดจากการยุบกรมอาชีวศึกษา มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาด้านอาชีพและจัดฝึกอบรม ถึงแม้ว่าปัจจุบันพระราชบัญญัติว่าด้วยการอาชีวศึกษายังไม่ได้ประกาศใช้ แต่สถานศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษา จำนวน 412 แห่ง ก็ได้จับกลุ่มกัน เป็นสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 28 แห่ง โดยนำเอาสถานศึกษาใน 2-3 จังหวัดที่ใกล้เคียงมารวมกัน เพื่อเป็นการนำเอาทรัพยากรมาใช้ร่วมกัน นำเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการอาชีวศึกษา ด้านการเรียนการสอนเน้น การเรียนการสอนในระบบทวีภาคี ที่เป็นการจัดการศึกษาที่สถานประกอบการมีส่วนร่วม เพื่อมุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษามีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี สกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ร่วมมือกับสถานประกอบการหรือฟาร์ม จัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาระดับ ปวส. สาขาสัตวศาสตร์ โดยนักศึกษา เรียนภาคทฤษฎีในวิทยาลัยสัปดาห์ละ 2 วัน อีก 5 วัน ฝึกปฏิบัติที่ฟาร์ม ทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการอื่นๆ จากทางฟาร์ม

นายเริงจิตร์ มีลาภสม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี และทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี มีการจัดการเรียนการสอนระดับ ปวช. และ ปวส. ระบบการเรียนมีทั้งระบบปกติเข้ามาเรียนในวิทยาลัยสัปดาห์ละ 5 วัน คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และระบบทวิภาคี ที่นักศึกษาเข้ามาเรียนในสถานศึกษาสัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันพุธและวันพฤหัสบดี ส่วนที่เหลือเรียนและฝึกปฏิบัติอยู่ที่ฟาร์มตรงกับคำว่า ทวิภาคี หมายถึง การร่วมมือกันสองฝ่ายระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการหรือฟาร์ม ดังนั้นนักศึกษาในระบบทวิภาคีจึงมีสถานะเป็นทั้งนักศึกษาในวิทยาลัยและเป็นพนักงานของสถานประกอบการหรือฟาร์มในเวลาเดียวกัน นักศึกษามีความรู้และทักษะในงานที่ทำเป็นอย่างดี และเมื่อเรียนจบตามหลักสูตรแล้วก็มีศักดิและสิทธิเหมือนกับการเรียนในระบบปกติข้อดีของการเรียนในระบบทวิภาคี คือ นักศึกษาได้ความรู้และทักษะตรงตามที่ตลาดต้องการ เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ ในระหว่างเรียนยังได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าช่วยเหลืออื่นๆจากสถานประกอบการหรือฟาร์ม นับเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองเป็นอย่างดี และนักศึกษาที่เรียนจบจากระบบทวิภาคีสามารถที่จะศึกษาต่อในระบบที่สูงขึ้นไปได้อีก

นายเริงจิตร์ มีลาภสม กล่าวต่อไปอีกว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เป็นต้นมา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ได้เปิดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาสัตวศาตร์ โดยได้รับความร่วมมือจากฟาร์มต่างๆในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นอย่างดี ซึ่งประกอบด้วย ฟาร์ม แสนสิงห์ฟาร์ม นำสยามฟาร์ม จ. ไพจิตรฟาร์ม อุทัยฟาร์ม ธวัชฟาร์ม มนตรีฟาร์ม เนวด้าฟาร์ม และกุดลาดฟาร์ม ซึ่งฟาร์มเหล่านี้เป็นสถานที่เรียนและฝึกภาคปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่เรียนตามหลักสูตร 2 ปี

ทางด้านผู้จัดการฟาร์มแสนสิงห์ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ใหญ่และทันสมัยแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี คุณ อุทิศ แสนสิงห์ ผู้จัดการหนุ่มไฟแรง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันราชภัฎอุบลราชธานี แต่เป็นผู้ที่มากด้วยประสบการณ์และมีความคิดก้าวหน้า เปิดเผยว่านักศึกษาที่มาเรียนอยู่ในฟาร์ม จะได้รับความรู้ ทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างเช่น การทำคลอดสุกร การผสมเทียมสุกร การผสมอาหารเลี้ยงสุกรและเทคนิคใหม่ๆในการเลี้ยงสุกร การเรียนการสอนในระบบทวิภาคีเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ดี ที่นักศึกษาจะได้รับทักษะและประสบการณ์ตรงตามที่ฟาร์มต้องการ นักศึกษาที่เรียนจบ ฟาร์มพร้อมที่จะรับเข้าทำงานทันที หรือนักศึกษาสามารถนำเอาความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ไปประกอบอาชีพจริงได้ ทางด้านความเป็นอยู่และสวัสดิการที่นักศึกษาได้รับในระหว่างการเข้ามาเรียนอยู่ในฟาร์ม ผู้จัดการหนุ่ม เปิดเผยว่าทางฟาร์มแสนสิงห์ได้มีการจัดที่พักให้นักศึกษาเป็นอย่างดีโดยแยกเป็นที่พักนักศึกษาชายและนักศึกษาหญิง มีการจัดอาหารให้ทานทุกมื้อ นอกจากนั้นยังให้ค่าเบี้ยเลี้ยงในวันที่อยู่ฟาร์มวันละ 100 บาท นอกจากนั้นยังได้ฝึกให้นักศึกษาเป็นผู้จัดการฟาร์มหรือผู้นำด้วย

การเรียนการสอนตามระบบทวิภาคีจึงนับได้ว่าเป็นการศึกษาที่เปิดโอกาสให้กับทุกคน นับเป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อผู้เรียนอย่างแท้จริง และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานีได้ยื่นให้กับทุกคนที่ต้องการ

อรัญ สิงห์คำ / อุบลราชธานี