สร้างผู้ประกอบการและสร้างรายได้ระหว่างเรียน

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี

รัฐบาลปัจจุบันโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกทั้งนี้เพราะประเทศไทยเรามีสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศเหมาะต่อการทำการเกษตรประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาหนึ่งที่จะทำให้ความฝันไม่เป็นจริงคือเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้ ทักษะในการทำการเกษตรที่ให้ผลผลิตปลอดจากสารเคมี เพราะสินค้าเกษตรที่จะส่งขายต่างประเทศจะต้องมีคุณภาพปลอดจากสารเคมี ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดต่างประเทศจะต้องมาจากไร่นาหรือฟาร์มของเกษตรกรที่มีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 46 แห่ง น่าจะเป็นความหวังของประเทศในการผลิตเกษตรกรที่มีความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

นายเริงจิตร์ มีลาภสม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี และทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กล่าวว่า ในทุกวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมีโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต รับผู้จบ ม.3 หรือเทียบเท่า เข้าเรียนในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตร 3 ปี เมื่อเรียนจบได้วุฒิการศึกษา ปวช. จุดเด่นของโครงการนี้คือ เรียนฟรี มีที่พักอาศัย ได้รับเงินอุดหนุน คำว่าเรียนฟรี คือ นักเรียนที่เข้าเรียนในโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลาการศึกษา 3 ปี ได้เรียนรู้หาประสบการณ์ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง เสริมสร้างทักษะและเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนั้นยังได้เรียนและฝึกทักษะวิชาชีพอื่นเพิ่มเติม เช่น ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อม คอมพิวเตอร์ ขับรถยนต์ ขับรถแทรกเตอร์ ขับรถแบคโฮ เป็นต้น ส่วนคำว่ามีที่พักอาศัย ทางสถานศึกษาจัดให้พักในบ้านพัก พร้อมเครื่องนอนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีครูพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ นักเรียนรับประทานอาหารที่โรงอาหารที่วิทยาลัยให้ครบทั้งสามมื้อ

นายเริงจิตร์ มีลาภสม กล่าวต่อไปว่า นักเรียนในโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิตยังได้รับเงินอุดหนุนคนละ 5,000 บาทต่อปี แบ่งเป็นภาคเรียนละ 2,500 บาท โดยวิทยาลัยจะนำเงินทั้งหมดมาจัดตั้งเป็นกองทุนสำหรับ นักเรียนเพื่อประโยชน์ในการทำโครงการเกษตรเพื่อการยังชีพ หารายได้และประสบการณ์ อย่างเช่น โครงการเลี้ยงไก่เนื้อ ที่มี ดร.ปริศนา สีต๊ะสาร และอาจารย์มะลิวัลย์ สังฆะภูมิ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ดร. ปริศนา สีต๊ะสาร กล่าวว่า มีโรงเรือนไก่เนื้ออยู่ 8 โรง แต่ละโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อได้รุ่นละ 300 ตัว นักเรียนเป็นผู้จัดการเองทั้งหมด ตั้งแต่การนำลูกไก่เนื้อเข้าโรงเรือน และการกกลูกไก่ การทำวัคซีนป้องกันโรค การให้น้ำให้อาหาร การสุขาภิบาล โดยนักเรียน จะแบ่งเวรกันในการเลี้ยงดู เป็นการฝึกให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และทำงานเป็นทีม เมื่อเลี้ยงได้ครบ 42 วัน นำเข้าโรงชำแหละเพื่อส่งโรงอาหารของวิทยาลัย ขายกิโลกรัมละ 48 บาท เลี้ยงไก่เนื้อจบแต่ละรุ่น นักเรียนแต่ละห้อง แต่ละกลุ่ม สรุปผลเกี่ยวกับความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่ได้จากการเลี้ยงไก่เนื้อเพื่อประมวลเป็นองค์ความรู้ และที่สำคัญคิดต้นทุน กำไร เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจในอนาคต นับเป็นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง

ดร. ปริศนา สีต๊ะสาร กล่าวต่อไปว่า ถ้านักเรียนมีการจัดการที่ดี อัตราการแลกเนื้อต่ำ ไก่เจริญเติบโตเร็ว อัตราการรอดตายสูง ผลกำไรก็มาก บางรุ่นได้กำไรถึง 12,000 บาท เงินกำไรที่ได้จะนำมาแบ่งปันให้นักเรียน ครูที่ปรึกษา นับเป็นการฝึกผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสร้างรายได้ระหว่างเรียน

อรัญ สิงห์คำ