ผักอนามัยปลอดภัยจากสารพิษ

ผักเป็นสารประกอบหลักในอาหารไทยเกือบทุกมื้อ แม้ว่าระยะหลังคนไทยจะมี วัฒนธรรมการกินตามอย่างตะวันตก โดยหันมารับประทานเนื้อสัตว์ แป้ง และน้ำนมก็ตาม ผักทุกชนิดมีเส้นใยอาหาร ที่ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารเป็นปกติ และเป็นตัวป้องกันมิให้สารพิษสัมผัสกับ ผิวลำไส้ โดยเฉพาะเกลือแร่ และวิตามินในผักจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระนี่เองที่เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็ง และโรคต่างๆในร่างกาย

ผักจึงเป็นทั้งอาหารและยาที่สามารถป้องกันและรักษาโรคได้สารพัดแต่ปัจจุบันผักที่ปลูกทั่วไปมักจะมีการนำสารเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรมาใช้เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช ก่อให้เกิดการสะสมสารเคมีที่เป็นพิษในผัก ผักอนามัยหรือผักปลอดภัยจากสารพิษจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีที่สุดในขณะนี้ที่จะทำให้ท่านมีสุขภาพอนามัยที่ดี

การปลูกผักในมุ้ง ผักในมุ้งหรือผักกางมุ้ง เป็นผักอนามัยทีปลอดภัยจากสารพิษ เพราะจะไม่มีการนำสารเคมีใดๆ ทีเป็นพิษ มาใช้ในกระบวนการปลูกผัก ผักที่ขอแนะนำให้ปลูกเป็นผักอนามัยกางมุ้งได้แก่ ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี กะหล่ำดอก บล๊อคโคลี่ ผักกวางตุ้ง ผักกางมุ้งสามารถปลูกได้ทั้งผักในมุ้งขนาดใหญ่ หรือ ปลูกในมุ้งขนาดเล็กตามความสะดวก พื้นที่ๆเหมาะสำหรับทำผักกางมุ้งคือ พื้นที่ปลูกผักได้ตลอดทั้งปี น้ำท่วมไม่ถึงโล่งแจ้ง

ขั้นตอนการปลูกผักอนามัยแบบกางมุ้ง

ทำโครงกางมุ้ง ใช้ดินทับชายมุ้งให้สนิท ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 500-650 กก.ต่อ 1 งาน ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินด้วยปูนขาวหรือปูนมาร์ล 50 กก. ต่อ 1 งานทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ด้วยน้ำอุ่น 50 –55 องศาเซ็นต์เซียส นาน 15-20 นาที ก่อนนำไปหว่านกล้า ใช้เชื้อไตรโคเดอม่า หว่านให้ทั่วแปลงป้องกันโรคเน่าคอดิน ทำการปลูกผักเหมือนการปลูกผักทั่วๆไป หมั่นสำรวจตรวจสอบแมลงศัตรูพืชสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เมื่อมีแมลงศัตรูผักให้ใช้สารสกัดสะเดา เชื้อแบคทีเรียร่วมกับการใช้กับดักกาวเหนียว หรืออาจใช้ตัวเฝ้ากำจัดแมลงศัตรูพืช ให้ธาตุอาหารเสริมเช่น โบรอน แคลเซียม เพื่อปรับการเจริญเติบโตของผักให้สม่ำเสมอ

การปลูกผักในมุ้งมีข้อดีคือ ได้ผักสีสวยนารับประทานและรสชาติดี ประหยัดการให้น้ำ ผักจะโตเร็วกวาผักที่ปลูกนอกมุ้ง กะหล่ำปลีหรือบล๊อคโคลี่จะดอกใหญ่กว่าปลูกนอกมุ้ง ผักที่ย้ายกล้าจะติดเร็วกว่าผักปลูกนอกมุ้ง เหมาะสำหรับปลูกผักนอกฤดูปกติได้ สามารถลดแรงปะทะจากเม็ดฝนเมื่อฝนตก

+อรัญ สิงห์คำ